วันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ขนมไทยในงานมงคล

ขนมไทยในงานมงคล


ในงานมงคลต่างๆ ของไทยอย่าง งานแต่งงาน งานทำบุญอายุ งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช ฯลฯ ขนมไทยได้เข้าไปมีบทบาทในสำรับอาหารหวานที่ทำขึ้นเลี้ยงพระและสำรับอาหารหวานสำหรับเลี้ยงแขกเหรื่อมาเนิ่นนานแล้ว เนื่องจากความเชื่อที่สืบทอดต่อๆ กันมาว่า ขนมหวานเป็นอาหารพิเศษสำหรับผู้มีบุญ ความหวานช่วยสร้างสรรค์มิตรภาพและความรัก จึงอาจกล่าวได้ว่าสำหรับสังคมไทยแล้ว ขนมหวานของไทยมีความหมายเกี่ยวข้องกับบุญกุศล ความรัก ความสุข และความสามัคคี นั่นเอง


ขนมตระกูลทอง
ขนมหวานของไทยที่นิยมทำขึ้นเพื่อทำบุญเลี้ยงพระในงานมงคล ได้แก่ ขนมตระกูลทองทั้งหลาย อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก และขนมที่มีชื่ออันเป็นมงคลอย่าง ขนมถ้วยฟู ขนมชั้น ฯลฯ สาเหตุที่คนไทยในสมัยโบรานใช้ขนมดังกล่าวในงานมงคลก็เนื่องจากชื่ออันเป็นมงคลนั้นเอง โดยเฉพาะชื่อขนมที่มีคำว่า "ทอง" ประกอบ คนไทยเราถือว่าทองเป็นของดีมีมงคล ซึ่งการที่นำขนมที่มีคำว่า "ทอง" มาใช้ในงานมงคลก็เพื่อที่จะได้มีบุญกุศลมีเงินมีทอง มีลาภยศ สรรเสริญ สมชื่อขนมนั่นเอง



ขนมที่ใช้เฉพาะในพิธีแห่ขันหมากงานแต่งงาน


ก็มี ขนมกง ขนมสามเกลอ ขนมพระพาย ขนมโพรงแสม ขนมชะมด ฯลฯ


ขนมที่ใช้ติดกัณฑ์เทศน์
คือ ขนมหน้านวล ขนมชั้น ขนมฝักบัว ขนมผิง ขนมทองม้วน ฯลฯ


ขนมสามเกลอ
ซึ่งเป็นขนมที่แสดงถึงความสามัคคี และไม่มีวันพรากจากกัน โดยใช้เป็นขนมเสี่ยงทายในงานแต่งงานลักษณะของขนมสามเกลอเป็นลูกกลมๆ เรียงกัน ๓ ลูกแบบก้อนเส้า การเสี่ยงทายจะดูกันตอนทอด กล่าวคือ ถ้าทอดแล้วยังอยู่ติดกัน ๓ ลูก ถือว่าบ่าวสาวจะรักใคร่กลมเกลียวกัน ถ้าทอดแล้วติดกัน ๒ ลูก แสดงว่าจะมีลูกยากหรือไม่มีเลย และถ้าหลุดจากกันหมด ไม่ติดกันเลย แสดงว่าชีวิตคู่จะไม่ยั่งยืนหรือชีวิตสมรสจะไม่มีความสุข อีกนัยหนึ่ง...ถ้าทอดขนมสามเกลอแล้วพองฟูขึ้น จะถือว่าเป็นคู่ที่เหมาะสมกับราวกิ่งทองกับใบหยก แต่ถ้าทอดแล้วด้าน ไม่พองฟู ก็ถือว่าใช้ไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น